หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๑๔)



หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๑๔)


“ เชื่อหรือไม่ว่าธรรมกายมีจริง ”

     คำถามนี้เป็นคำถามที่อาตมาจะถูกญาติโยมที่มาวัดใหม่ ๆ ถามเสมอ และก็เป็นคำถามดั้งเดิมที่อาตมาเคยถามตนเองเมื่อเข้าวัดใหม่ๆ ก็ต้องท้าวความสักนิดว่า อาตมาเข้าวัดได้เพียงเดือนเดียวก็บวช ช่วงนั้นก็คิดว่าจะบวชเพียงแค่พรรษาเดียว เอาบุญอุทิศให้โยมพ่อ โยมแม่



     แต่เมื่อถึงวันที่เพื่อน ๆ เขาลาสิกขากัน อาตมาเกิดความเสียดายในผ้าเหลือง ไม่อยากลาสิกขา แต่ก็ไม่รู้ว่าหากอยู่ต่อแล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร จึงอธิษฐานจิตแล้วนั่งธรรมะ หากมีประสบการณ์จะอยู่ต่อ นั่งจนกระทั่งเที่ยงคืน ทั้งมืดทั้งเมื่อย คิดว่าเราคงไม่มีบุญจะได้อยู่ต่อแล้วก็เลยเลิกนั่ง กราบพระประธานแล้วกลับเข้ากลด คิดว่าเช้าวันรุ่งขึ้นคงลาสิกขา แต่เมื่อจะจำวัด เกิดอารมณ์สบาย ปล่อยวางทุกอย่าง แล้วจู่ ๆ ก็มี ดวงสว่างเกิดที่กลางท้อง โดยที่ไม่ได้นึกอะไรเลย สว่างอยู่อย่างนั้นเกือบนาที ชุ่มเย็นไปทั้งเนื้อทั้งตัว แล้วก็เป็นไปตามสูตรคือ ดีใจเกินไปดวงเลยหาย แล้วก็กลับสู่ภาวะที่เป็นมาตลอดคือ มืดสนิท แต่นั่นคือจุดเปลี่ยนของชีวิตที่ทำให้อาตมามั่นใจว่าเรามาถูกทางแล้ว


     แม้ว่าจากวันนั้นผ่านมาอีกสองสามปี นั่งทีไรก็มืดสนิท แต่อาตมาก็ไม่เคยท้อ โดยเฉพาะแม้ตนเองจะมืด แต่ปรากฏว่าเมื่อนำคำสอนของหลวงพ่อธัมมชโยไปถ่ายทอดให้กับผู้อื่น เขากลับมีบุญไปถึงจุดที่อาตมาไม่เคยไปถึงก็มี



     ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๒ มีนักเรียนทุนแลกเปลี่ยน (AFS) ชาวนิวซีแลนด์ สนใจในพระพุทธศาสนาได้มาบรรพชาที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แล้วผู้นำบุญที่วัดก็พามากราบหลวงพ่อ ให้ท่านได้มาปฏิบัติธรรม หลวงพ่อทัตตชีโวก็มอบหมายให้หลวงพี่สุรพล ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกสามเณรในขณะนั้นเป็นผู้ดูแล

     หลวงพี่ท่านได้สอดส่ายสายตามองไปมองมา แล้วคงเห็นว่าในจำนวนพระพี่เลี้ยง ดูท่าอาตมาคงท่อง A-Z ได้แน่ จึงมอบหมายให้ดูแลสามเณรรูปนี้




     ใครที่อยู่ในยุคนั้น คงจะจำได้ว่าข้าง ๆ อาศรมบัณฑิต หลวงพ่อทัตตชีโวเมตตาให้ทำห้องปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นห้องไม่ใหญ่มาก จุคนน่าจะได้สัก ๕๐ และที่ห้องนี้เองที่เป็นความทรงจำที่ดียิ่งของอาตมา

     ด้วยความที่อยากให้สามเณรมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีแม้ท่านจะมีเวลาน้อยเพียงแค่สองสัปดาห์ แต่ก็นึกถึงคำสอนของหลวงพ่อธัมมชโยว่า

     “ การเข้าถึงธรรมไม่ได้อยู่ที่เงื่อนเวลา แต่อยู่ที่การหยุดการนิ่ง หยุดเดี๋ยวนี้ก็เข้าถึงเดี๋ยวนี้...” 


     อาตมาจึงได้กราบขออนุญาตให้สามเณรมานั่งธรรมะที่ห้องปฏิบัติธรรมที่อาศรมบัณฑิตซึ่งเราเรียกกันว่า “ ดอยเตี้ย ”




     เพียงแค่วันแรกของการปฏิบัติธรรม จากผู้ที่ไม่เคยรู้เรื่องของสมาธิ รู้จักพระพุทธศาสนาเพียงผิวเผินจากการอ่านบ้าง แต่เมื่อลงมือปฏิบัติสามเณรก็ทำให้อาตมาต้องอึ้งทึ่ง กล่าวคือ เมื่ออาตมาให้ท่านนึกดวงแก้ว ท่านก็นึกไม่ได้ เอาไงดีหล่ะ นึกได้ว่า

หลวงพ่อธัมมชโยเคยบอกว่า

     “ การกำหนดนิมิตเป็นดวงแก้วหรือองค์พระ เพื่อให้ใจมีที่ยึดที่เกาะ หากนึกดวงแก้วหรือองค์พระไม่ได้ จะนึกถึงอะไรก็ได้ เช่น ธรรมชาติที่สวยงาม ผลไม้สักผล หรือบุคคลที่เราเคารพรัก...”




     อาตมาจึงถามท่านว่า ท่านเคยเล่นซอคเกอร์ไหม ท่านตอบว่า เล่น ก็เลยแนะนำให้นึกถึงลูกฟุตบอล ปรากฏว่า ท่านนึกได้ เห็นอย่างสบาย ๆ ท่านก็ดูไปเรื่อย ๆ และแล้วสิ่งที่ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น เพียงแค่ ๕ นาที ท่านก็บอกว่า

     “ แปลกจัง ทำไมลูกฟุตบอลกลายเป็นดวงแก้วใสไปได้ ”

     อาตมาในขณะนั้นก็ยังมืดสนิท ๑๐๐ เปอร์เซนต์ก็ได้แต่นึกถึงคำของหลวงพ่อที่สอนไว้แล้วก็แนะนำท่านไป

     “ เมื่อมีประสบการณ์จากการปฏิบัติธรรม มีอะไรให้ดูก็ดูไป ดูไปเฉย ๆ ดูไปเรื่อย ๆ ดูไปอย่างสบาย ๆ อย่าลังเลสงสัย อย่ามีคำถาม...”

     ในระหว่างนั้น อาตมาไม่ได้ให้ท่านอ่านอะไรเลย ให้ทุ่มเวลาทั้งหมดไปกับการปฏิบัติ และด้วยผลแห่งการนั่งธรรมะที่ต่อเนื่อง และความตั้งใจจริงของท่าน เพียงแค่วันที่ ๓ ในช่วงเย็นท่านก็ถามอาตมาว่า

     “ หลวงพี่ ทำไมผมเห็นตัวผมเอง หลับตา ลืมตาก็เห็น แต่ตัวโปร่ง ใส แม้จะนุ่งห่มจีวร แต่จีวรก็ใสเป็นแก้ว ”

     พอได้ยินเท่านั้น อาตมาดีใจสุด ๆ ใจแทบจะกระดอนออกมา นอกอก ที่ดีใจคือแม้ตนเองยังไม่เคยมีประสบการณ์นั้น แต่จากการที่นำคำสอนของครูบาอาจารย์มาถ่ายทอด กลับทำให้ท่านมีผลการปฏิบัติธรรมตามที่หลวงปู่วัดปากน้ำสอนไว้ และเมื่อบอกให้ท่าน ประคองรักษาตัวเองภายในให้ดี ท่านก็สามารถทำได้ ยิ่งนั่งไปยิ่งสว่างเพิ่มขึ้น




     จนกระทั่งก่อนวันที่ท่านจะกลับไปประจวบคีรีขันธ์ อาตมาตั้งใจเต็มที่ว่าอยากให้ท่านมีประสบการณ์ภายในที่ละเอียดยิ่งขึ้น จึงได้ชวนท่านว่า คืนนี้เราจะนั่งกันให้นานที่สุด (ปกติจะเลิก ๒๑.๐๐ น.) นึกในใจว่า จะพานั่งถึงเช้าเลยทีเดียว พอตั้งใจจะนั่งแค่นั้นแหละ ไม่รู้ว่าความปวด ความเมื่อย มันมายังไง นั่งแค่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เหน็บก็ถามหาแล้ว หรี่ตามองสามเณรท่านนั่งนิ่ง กลายเป็นอาตมาที่บิดไปบิดมา กลับเท้าแล้วกลับเท้าอีก หาความสบายไม่ได้เลย

     เราก็พากันนั่งไปจนถึงเที่ยงคืน อาตมาก็หรี่ตาดูท่าน เห็นนั่งนิ่ง หน้าตาดูผ่องใส จู่ ๆ ท่านก็ถามเบา ๆ ว่า

     “ หลวงพี่ ทำไมมีองค์พระออกมาจากกลางท้อง แล้วก็ขยายคลุมตัวของผม ”


     อาตมาก็ต้องใช้สูตรเดิม นึกถึงคำสอนของหลวงพ่อ

     “ อย่าสงสัย อย่ามีคำถามนะ ให้ประคององค์พระ วางใจนิ่ง ๆ ไว้กลางองค์พระอย่างเดียว รักษาความสบาย รักษาอารมณ์สบายให้ต่อเนื่อง ”


     จากประสบการณ์นี้ แม้ในขณะนั้นอาตมาเองยังกอดความมืดไว้แน่น แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้อาตมาเกิดความเชื่อมั่นในการปฏิบัติ  เชื่อมั่นในการมีจริง เชื่อในการเกิดขึ้นของพระธรรมกายในตัว และเกิดกำลังใจที่จะไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้


แล้วพวกเราหล่ะ เชื่อหรือไม่ว่าธรรมกายมีจริง ?



ขอขอบคุณภาพจาก dmc.tv
อาสภกันโต ภิกขุ
๒๙ ก.ค. ๕๙

หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๑๔) หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๑๔) Reviewed by asabha072 on 6:31 AM Rating: 5

9 comments:

  1. การที่มีคนเข้าถึงพระธรรมกาย เป็นพยานยืนยันว่าธรรมะที่หลวงปู่วัดปากน้ำเข้าถึงและนำมาสอนเป็นของจริง เหมือนที่ปัจจวัคคีย์เข้าถึงธรรม ก็เป็นการยืนยันการบรรลุธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ReplyDelete
  2. เชื่อคะ เพราะถ้าวางใจดีๆขนาดมืดๆใจยังมีความสุข. รู้สึกว่ามีพลังงานบางอย่างที่อธิบายไม่ได้ แต่รู้สึกเหมือนอิ่ม_เหมือนคนหิวน้ำ กระหายน้ำ มานานๆ การนั่งสมาธิเหมือนได้จิบน้ำอุ่นๆ พอน้ำผ่านลำคอเข้าปากไป ..มันอิ่มๆแบบนั่นนะคะ

    ReplyDelete
  3. เชื่อค่ะ. สาธุ ดีจัง ติดตามบทความของลพ.ตลอดต่ะ อ่านแล้วมีความสุขสบายใจ

    ReplyDelete
  4. สาธุๆๆ ค่ะ อนุโมทนาบุญกับพระอาจารย์ค่ะ อ่านแล้วรู้สึกมีความสุข อยากนั่งสมาธิเลยค่ะ

    ReplyDelete
  5. สาาธุ สาาธุ สาาธุ เจ้าค่ะ เป็นบทพิสูจน์อย่างดีจากคำสอนครูบาอาจารย์ ที่ผ่านประสบการณ์ภายใน เมื่อตั้งใจปฏิบัติตาม ย่อมเข้าถึงธรรมภายในเหมือนกัน

    ReplyDelete
  6. สาาธุ สาาธุ สาาธุ เจ้าค่ะ เป็นบทพิสูจน์อย่างดีจากคำสอนครูบาอาจารย์ ที่ผ่านประสบการณ์ภายใน เมื่อตั้งใจปฏิบัติตาม ย่อมเข้าถึงธรรมภายในเหมือนกัน

    ReplyDelete
  7. เชื่อมั่นที่สุดของที่สุดเจ้าค่ะ พระธรรมกายมีจริง
    กราบสาธุ สาธุ สาธุ เจ้าค่ะ

    ReplyDelete
  8. เคยมีประสบการณ์เช่นกัน จึงทำให้ตัวเองมั่นใจว่าศูนย์กลางกายมีจริง พระธรรมกายภายในมีจริง

    ReplyDelete

Powered by Blogger.